18149 จำนวนผู้เข้าชม |
การแต่งงานหรือพิธีมงคลสมรสเป็นประเพณีที่ทุกวัฒนธรรมให้ความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีชีวิตสังคมไทย เพราะการแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมจะรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมที่จะมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าครอบครัว หรือสามีภรรยาที่ดี
ดังนั้นอาจตีความการแต่งงานได้ว่าเป็น การเกี่ยวดองระหว่างชาย-หญิงที่มีความรักใคร่ต่อกันจนสุกงอม มีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจกันและพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันจึงต้องแต่งงานกัน เพื่อให้ผู้ใหญ่ของทั้งคู่และสังคมยอมรับถึงการแต่งงานนี้ซึ่งขั้นตอนการแต่งงานตามประเพณีไทยจะมีด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.การสู่ขอ : ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย จะต้องมีการมอบหมายให้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีผู้ให้การเคารพนับถือ และรู้จักพ่อแม่หรือบุพพาการีของทั้งสองฝ่ายพอสมควร รวมทั้งรู้จักอุปนิสัยใจคอของเจ้าบ่าวเป็นอย่างดี เราจะเรียกผู้ใหญ่ท่านนี้ว่า “เฒ่าแก่” ซึ่งในปัจจุบันแผลงมาเป็น “เถ้าแก่” แทน
พิธีการสู่ขอ : เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะไปพบบุพพาการีของฝ่ายเจ้าสาวเพื่อทำการสู่ขอ โดยในสมัยโบราณจะมีการใช้คำพูดอุปมาอุปมัยไพเราะ เพื่อสู่ขอเจ้าสาวซึ่งในสมัยโบราณก็จะมีการนัดแนะกันอยู่บ้าง เพื่อให้บ้านเจ้าสาวได้จัดบ้านและแต่งตัวให้สวยงามเป็นพิเศษ
ถ้าการเจรจาสู่ขอผ่านไปด้วยดี จะมีการตกลงถึงเรื่องสินสอดทองหมั้น และการหาฤกษ์งามยามดีสำหรับการประกอบพิธีมงคลสมรสต่อไป ในสมัยโบราณที่ยังมีการคลุมถุงชนกันอยู่ พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวอาจมีการผัดผ่อน เพื่อที่จะสืบประวัติฝ่ายชายอย่างละเอียดมากขึ้น ถามความสมัครใจจากเจ้าสาว หรือเหตุผลอื่นๆ แต่ในปัจจุบันการเจรจาสู่ขอมักตกลงกันได้ในครั้งแรก เพราะพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายมักคุ้นเคยและรู้จักกับทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวอยู่แล้ว
2.การปลูกเรือนหอ : ในสมัยโบราณฝ่ายชายมักเป็นผู้ปลูกเรือนหอเอง โดยมักปลูกเรือนหอให้เสร็จก่อนวันแต่งงาน ดังนั้นสมัยโบราณจะมีการเว้นระยะจากการหมั้นพอสมควร เพื่อให้ฝ่ายชายได้ปลูกเรือนหอให้เรียบร้อยนั่นเอง โดยในปัจจุบันอาจเปลี่ยนเป็นการดาวน์บ้านหรือคอนโดเพื่อเป็นเรือนหอก็ได้
3.การหมั้นหมาย : ในปัจจุบันการแต่งงานมักเป็นการจัดงานหมั้นและจัดงานมงคลสมรสต่อเลยทันที แต่ในสมัยโบราณอาจมีการหมั้นกันก่อนในระยะหนึ่งถึงค่อยจัดงานแต่งขึ้นในภายหลัง ซึ่งสินสอดทองหมั้นที่นำไปหมั้นหมายกับเจ้าสาวมักเรียกว่า ขันหมากหมั้น ตามธรรมเนียมเพื่อเป็นการจองตัวหรือมัดจำเจ้าสาวไว้
การกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น มักนิยมเป็นช่วงเช้าหรือก่อนเที่ยง ซึ่งฤกษ์ที่ใช้หลักๆจะมีอยู่ 3 ฤกษ์ได้แก่ ฤกษ์แห่ขันหมาก ฤกษ์รดน้ำ-ทิศทางที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่ง และฤกษ์ปูที่นอน-ส่งตัว ซึ่งตามประเพณีไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มักจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่หรือพราหมณ์เป็นผู้หาฤกษ์ ซึ่งทาง DestinySoln เองก็สามารถวางฤกษ์ทั้ง 3 ฤกษ์นี้ได้โดยจะถือเกณฑ์ดวงชะตาของทั้งฝ่ายเจ้าสาวและฝ่ายเจ้าบ่าวในการคำนวณหาฤกษ์ที่ดีที่สุด
เมื่อถึงกำหนดฤกษ์ที่วางไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้เตรียมขันหมากหมั้นเพื่อยกไปทำการหมั้นฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งผู้นำขบวนขันหมากก็คือ เฒ่าแก่ของฝ่ายชายนั่นเอง ซึ่งสิ่งของที่จะใช้เตรียมในขันหมากหมั้นประกอบไปด้วย
ขันหมาก
·ขันใส่หมาก นิยมใช้เป็นขันสีทอง มักมีขนาดเล็กกว่าขันสินสอด (ขันหมั้น)
·ลูกหมากดิบป้ายด้วยปูนแดง 4 หรือ 8 ผล ต้องเป็นกิ่งที่แยกออกจากทะลายหมากเดียวกัน
·ใบพลูที่ป้ายด้วยปูนแดง เรียงกันเป็นคู่ 4 หรือ 8 เรียง ตัดก้านให้เรียบร้อยแล้ววางม้วนเรียงเป็นวงกลมวางในขันให้เสมอกัน เป็นที่มาของคำว่าขันหมากนั่นเอง เพราะเป็นขันที่ใส่ลูกหมากเอาไว้
ขันสินสอด
·มักใช้ขันชนิดเดียวกับขันหมากแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ภายในบรรจุด้วยสินสอดที่ตกลงกับฝ่ายเจ้าสาวไว้
·ส่วนใหญ่จะเป็น สร้อย แหวน กำไลข้อมือ เครื่องประดับทองคำ เพชรนิลจินดาต่างๆ
·อาจมีการใส่เศษเงิน หรือใบเงิน ใบทอง ใบนาถ ใบแก้ว ใบรัก เพื่อถือเคล็ดว่าเงินสินสอดจะได้งอกเงยออกดอกออกผล อาจมีใส่ถุงแพรเล็กๆที่มีข้าวเปลือกและถั่วงาลงไปด้วย
สำหรับดอกไม้ธูปเทียนที่ใข้ในพิธีจะเป็นธูปแพ เทียนแพ ส่วนดอกไม้จะเป็นดอกอะไรก็ได้ จัดใส่ในกระทงมีกรวยปิดไว้บนธูปแพเทียนแพอีกทีนึง
เครื่องขันหมาก
·ประกอบไปด้วย ขนมและผลไม้ ปัจจุบันนิยมจัดเป็นพานผลไม้ พาลขนมมงคล และอาจมีพาลของคาวด้วย
เมื่อจัดของในขบวนขันหมากหมั้นได้เรียบร้อย เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะต้องจัดหาหญิงสาวหน้าตาน่ารักสะสวย โดยมักใช้เป็นลูกๆหลานๆเพื่อเป็นผู้เชิญขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้วเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะจัดขบวนอีกครั้ง โดยนิยมให้คนเชิญดอกไม้ธูปเทียนอยู่ที่หัวขบวนเพื่อแสดงถึงการคารวะ ถัดมาเป็นผู้ถือขันหมากและขันสินสอด ถึงมาเป็นเฒ่าแก่ แม้ในปัจจุบันจะนิยมจัดเป็นเฒ่าแก่และเจ้าบ่าวอยู่หน้าขบวนก็ตาม
3.1)การยกขันหมากหมั้น
เมื่อได้ฤกษ์ที่วางไว้ เฒ่าแก่จะทำการยกขันหมากหมั้นไปยังบ้านฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งเจ้าสาวเองก็จะต้องจัดเฒ่าแก่ไว้ตอนรับเช่นเดียวกัน เมื่อขันหมากมาถึง มักมีเด็กตัวเล็ก โดยมากมักเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิงถือพานหมากออกมารับ ในพานจะมีหมากพลูคำเล็กๆใส่ไว้เป็นจำนวนคู่ เด็กตัวเล็กจะส่งพานหมากพลูให้เฒ่าแก่ฝ่ายชาย ซึ่งเฒ่าแก่เองจะมีของขวัญเป็นซองเงินให้เด็ก ก่อนคืนพานหมากและอาจนำหมากไปเคี้ยวเป็นพิธี
จากนั้นจะเป็นการกั้นประตูเงินประตูทอง ในสมัยก่อนนิยมนำเด็กๆที่เป็นลูกหลานของฝ่ายหญิงมาถือเข็มขัดเงินหรือสายสร้อยเงินเพื่อกั้นประตู แต่ในปัจจุบันมักใช้เป็นเพื่อนสนิท พี่น้องของฝ่ายเจ้าสาวแทน มักจัดประตูเป็นประตูเงิน ประตูทอง และประตูเพชร (ยิ่งประตูเข้าใกล้เจ้าสาวมากขึ้นยิ่งเป็นของมีค่ามากขึ้น) เมื่อผ่านถึงประตูชั้นในสุดแล้ว เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะออกมาต้อนรับเฒ่าแก่ฝ่ายชายแล้วจึงเริ่มพิธีหมั้น
3.2)พิธีหมั้น
ก่อนทำพิธีเฒ่าแก่ของทั้งสายฝ่ายจะพูดคุยกันก่อนเป็นพิธี โดยเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพออกก่อน และพูดถึงฤกษ์ยามงามดี ตัวเฒ่าแก่ได้ทำหน้าที่นำขันหมากหมั้นจากทางฝ่ายชายมาให้ฝ่ายหญิงด้วยเงินสินสอดทองหมั้นตามที่ตกลงกันไว้ ขอให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงได้ตรวจสอบว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงก็จะตอบกลับด้วยการเห็นดีเห็นงามต่อการหมั้นหมายและพูดคุยเพื่อเพิ่มความสนิทสนมก่อนที่เฒ่าแก่ชายจะเปิดผ้าคลุมสินสอดให้ฝ่ายหญิงตรวจและนับสินสอดตามธรรมเนียมต่อหน้าญาติทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นสักขีพยาน จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะนำแป้งกระแจะมาเจิมสินสอดเพื่อเป็นสิริมงคล โดยปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นการโปรยดอกไม้บนตัวสินสอดแทน
ในขั้นตอนนี้มักมีการสวมแหวนหมั้นหรือสร้อยกำไล ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้สวมให้เจ้าสาวเพื่อเป็นการหมั้นหมายเอาไว้ ฝ่ายเจ้าสาวจะนำเอาสินสอดทองหมั้นไปเก็บรักษาไว้และคืนขัน-ภาชนะต่างๆ ซึ่งฝ่ายเจ้าสาวเองต้องเตรียมของชำร่วยมอบให้แก่ผู้เชิญขันหมากทุกคนด้วย เป็นอันเสร็จพิธีหมั้นเรียบร้อย ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นของชำร่วยที่แจกให้แก่แขกทุกท่านที่มาร่วมในงานหมั้นนั่นเอง
4.การแต่งงานหรือพิธีมงคลสมรส
ฤกษ์แต่งงาน
แน่นอนว่าการดูฤกษ์ยามงามดี เคล็ดลางต่างๆ นั้นเป็นที่นิยมในคนไทยมาตั้งแต่ช้านาน ไม่ว่าจะทำพิธีอะไรล้วนมีการดูฤกษ์ทั้งนั้น ซึ่งในส่วนของการแต่งงานจะสามารถดูฤกษ์ได้ตั้งแต่ ฤกษ์วันแต่งงาน ฤกษ์ส่งตัวเจ้าสาว ฤกษ์เรียงหมอน ฯลฯ ในสมัยโบราณฤกษ์ยามที่ดีจะต้องเป็นวันและเดือนที่ดี โดยมักเลือกเป็นเดือนคู่ในวันอธิบดีหรือวันธงชัย
ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเคล็ดการเลือกวันที่แตกต่างกันออกไป บ้างนิยมเดือนคู่เพราะอยากให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเคียงคู่กันตลอดไป บ้างนิยมเดือน 9 เพราะคำว่า “เก้า” พ้องกับคำว่า “ก้าว” ในบางภูมิภาคของประเทศไทยนิยมเดือน 6 เพราะสภาพอากาศเริ่มเข้าสู่หน้าฝน เสมือนเป็นตัวแทนของการเจริญงอกงามจากการเพาะปลูกซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยโบราณ
ในส่วนของฤกษ์แต่งงานทาง DestinySoln ขออาสาเป็นผู้ดูแลจัดฤกษ์วันที่ดีที่สุด อ้างอิงจาก วันเดือนปีและเวลาเกิดของทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเพื่อฤกษ์วันแต่งงานที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
พิธีรับไหว้
ปัจจุบันการแต่งงานในประเทศไทยมักรวบรัดวันแต่งงานและวันหมั้นเป็นวันเดียวกัน หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “หมั้นเช้าแต่งเย็น” แต่ในความเป็นจริงแล้ว พิธีแต่งงานนั้นเสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงเช้าแล้วส่วนช่วงเย็นจะเป็นแค่การฉลองการแต่งงานเท่านั้น
การรับไหว้มักจัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ต่างๆ คล้ายกับการยกน้ำชาของประเทศจีน ซึ่งเงินทองที่ได้จากพิธีรับไหว้หมายถึงเงินทุนให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อนำไปใช้ในการสร้างตัวต่อไป
พิธีรับไหว้ต้องมีการจัดเก้าอี้หรือเสื่อเอาไว้เพื่อที่ว่าผู้ใหญ่จะได้มานั่งต่อหน้าคู่บ่าวสาวได้อย่างสะดวก เมื่อทำพิธีเสร็จค่อยลุกออกไปให้ผู้ใหญ่ท่านอื่นมาทำพิธีต่อ ปกติการไหว้จะเรียงตามลำดับอาวุโส ส่วนใหญ่พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวซึ่งเป็นเจ้าภาพจะให้เกียรติกับฝ่ายเจ้าบ่าว โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่นั่งคู่กันอยู่ตรงข้ามจะกราบลงพร้อมกันที่หมอนสามครั้งในกรณีที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ถ้าเป็นญาติคนอื่นๆ กราบแค่หนึ่งครั้ง ไม่ต้องแบมือทั้งสองกรณีจากนั้นส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้พ่อแม่ของทั้งคู่รับและให้ศีลให้พรอวยพรทั้งคู่
พิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว
ตามขนบธรรมเนียนไทย เมื่อมีพิธีหรืองานมงคลใดๆก็ตามย่อมมีการตักบาตรทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ ตามประเพณีไทยโบราณนิยมทำบุญหลังจากการรับไหว้ โดยเจ้าภาพมักเป็นผู้นิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต แต่ในปัจจุบันการทำบุญตักบาตรมักถูกเลื่อนไปจัดในวันอื่นแทน
ในสมัยก่อนนิยมนิมนต์พระมาเป็นคู่ เช่น 4 หรือ 8 องค์ แต่ค่านิยมในยุคปัจจุบันนิยมเป็น 9 องค์ เพราะคนไทยเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลและหมายถึงความเจริญก้าวหน้า ถ้านับพระประธานเป็นองค์ที่ 10 ก็ครบ 10 องค์ เป็น 5 คู่พอดี
จะเห็นได้ว่าในงานมงคลสมรสนิยมให้คู่บ่าวสาวเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระแทน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในงาน รวมถึงขั้นตอนในการถวายขันและเทียนเพื่อให้พระทำน้ำพระพุทธมนต์ด้วย เพราะจะต้องนำมาเป็นน้ำสังข์สำหรับหลั่งในพิธีรดน้ำในขั้นตอนต่อไป
พิธีรดน้ำสังข์
หลังจากคู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพระพุทธมนต์และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็จะได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ โดยพระผู้เป็นพิธีจะทำการเจิมให้แก่ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว โดยพระท่านจะเจิม 3 จุดให้แก่ฝ่ายชายโดยตรงและจับมือฝ่ายชายเจิมที่หน้าผากของเจ้าสาว
จากนั้นจะสวมมงคลแฝดให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ก่อนจะโยงปลายของมงคลแฝดมาพันที่บาตรน้ำมนต์และหางสายสิญจน์ในกรณีที่มีสายโยง แต่ปัจจุบันมักนิยมมงคลแฝดแบบไม่มีสายโยง ซึ่งทั้งคู่บ่าวสาวจะนั่งตามตำแหน่งที่จัดเอาไว้มีหมอนรองมือและพานรองน้ำสังข์ การรดน้ำจะใช้หลักอาวุโสรดตามลำดับ สาเหตุที่ต้องใช้หอยสังข์เพราะความเชื่อจากพราหมณ์ที่ว่า สังข์เคยเป็นที่รับรองพระเวทมีรอยพระหัตถ์ของพระนารายณ์ ดังนั้นการนำมาใส่น้ำมนต์ให้คู่บ่าวสาวย่อมเป็นสิริมงคลนั่นเอง
การกล่าวอวยพรแม้ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่นิยมกล่าวไปในทิศทางที่ให้คู่บ่าวสาวประสบความสำเร็จ อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
การกินเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรส
เมื่อหลั่งน้ำสังข์เรียบร้อยแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงาน อาจมีดนตรีประกอบเพื่อความครื้นเครง โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวมักกล่าวขอบคุณแขกต่างๆ อาจเชิญพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวกล่าวด้วย
ซึ่งโฆษกนำงานมักกล่าวถึงความเป็นมาของทั้งคู่ การพบกันครั้งแรก การผลิดอกเบ่งบานของความรักของทั้งคู่ จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเดินไปขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน พร้อมกับแจกของชำร่วยเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ในปัจจุบันงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสมักจัดขึ้นในตอนเย็น และเจ้าสาวมักเปลี่ยนชุดไทยในตอนเช้าเป็นชุดราตรียาวสีขาว ที่เรียกกันติดปากว่า “ชุดเจ้าสาว” แขกต่างๆที่มาในงานมักหลีกเลี่ยงการใส่ชุดสีขาวเพราะถือว่าไม่ให้เกียรติเจ้าสาว
พิธีการปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว
ในสมัยโบราณพิธีปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาวมักทำตอนกลางคืน โดยฤกษ์ส่งตัวมักอยู่หลังงานเลี้ยงฉลองจบลง โดยพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้มีเกียรติที่เป็นคู่สามีภรรยาอาวุโส อาจเป็นเฒ่าแก่ก็ได้ ให้ทำพิธีปูที่นอน
ปูที่นอนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปูที่นอนใหม่ แต่ที่นอนมักถูกจัดมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ทำพิธีแค่จัดหมอน จัดผ้าห่มให้เป็นพิธีและผู้ทำพิธีชายนอนล้มตัวด้านขวา ส่วนผู้ทำพิธีหญิงจะนอนล้มตัวด้านซ้ายถือเป็นการนอนเอาเคล็ด
ในสมัยโบราณต้องมีของมงคลในการปูที่นอนทั้ง ฟักเขียว แมวตัวผู้สีขาว หินบดยา ถั่วทอง งาเมล็ด ข้าวต่างๆ แต่ในปัจจุบันมักใช้กลีบดอกไม้ เช่นดอกกุหลาบหรือดอกบานไม่รู้โรย มาโรยบนเตียงนอนให้คู่บ่าวสาว จากนั้นผู้ทำพิธีจะแกล้งทำเป็นตื่นแล้วพูดว่าฝันเห็นสิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นมงคล สื่อความถึงอนาคตที่ดีของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
จากนั้นพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะอบรมคู่บ่าวสาว ก่อนให้ทั้งคู่นอนลงที่นอนตามตำแหน่งเดียวกันกับผู้ทำพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี บางกรณีอาจให้เข้าสาวกราบเจ้าบ่าวเพื่อถือเป็นเคล็ดให้สามีดูแลคุ้มครอง
สนใจดูฤกษ์แต่งงานมงคล โดยซินแสมากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาวิชาความรู้มาจากหลากหลายสำนักจะช่วยให้คู่บ่าวสาวได้ฤกษ์มงคลที่เหมาะสมที่สุดกับการเริ่มต้นชีวิตคู่ หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม >>คลิกได้ที่นี่<<