ลำดับพิธีมงคลสมรส แบบจีนดั้งเดิม

21424 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลำดับพิธีมงคลสมรส แบบจีนดั้งเดิม

คำว่า “แต่งงาน” ในภาษาจีนโบราณมาจากคำว่า 婚姻 ; ฮุนอิน แต่แผลงมาเป็น “ฮุนหลี่” ในปัจจุบัน โดยคำว่า “ฮุน” มีรากศัพท์จากการผสมตัวอักษรสองตัวคือ 昏 ที่แปลว่าค่ำคืน และตัวอักษร 女 ที่แปลว่าสตรี ส่วนคำว่าอินหมายถึง ความเป็นมิตรหรือความเป็นหนึ่งเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าตัวอักษรแค่สองตัวก็มีความลึกซึ้งและบ่งชี้ถึงความหมายในการแต่งงานของคนจีนได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะในสมัยโบราณพิธีมงคลสมรสมักถูกจัดขึ้นในยามราตรี เพราะเป็นฤกษ์แต่งงานที่มงคล โดยบรรยากาศมักเป็นไปอย่างชื่นมื่นจากการเกี่ยวดองระหว่างเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่นเอง

ในมุมมองความคิดแบบขงจื้อ การแต่งงานมีความสำคัญมากต่อทั้งสองครอบครัวและต่อสังคมโดยรวมในภาพใหญ่ เพราะการแต่งงานนอกจากจะเป็นการสืบสกุลแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับทั้งสองครอบครัวอีก ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเจ้าบ่าวหรือตัวเจ้าสาวเองเท่านั้น

ตามหลักฐานอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นของการการจัดพิธีมงคลสมรสมีขึ้นระหว่าง 402 ปีถึง 221 ปีก่อนคริสตกาล แม้รายละเอียดของพิธีในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถื่น แต่พิธีที่เป็นหัวใจหลักซึ่งก็คือ “3 จดหมาย 6 พิธีการ” นั้นถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศ

3 หนังสือ 6 พิธีการ (บางที่เรียก 3 จดหมาย 6 จารีต) มีรายละเอียดขั้นตอนคือ

1.การสู่ขอ : ตามประเพณีต้องมีแม่สื่อหรือพ่อสื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางชักนำและไกล่เกลี่ยให้การแต่งงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น ในปัจจุบันความจำเป็นของแม่สื่อหรือพ่อสื่อลดน้อยลงไป เนื่องจากการเสื่อมความนิยมของการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ดังนั้นบทบาทนี้อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นเถ้าแก่หรือผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ที่ทำหน้าที่เอ่ยปากสู่ขอกับผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวในบริบทของคนไทยเชื้อสายจีน

2.ขอวันเดือนปีเกิดเจ้าบ่าว : ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าสาวเอ่ยปากตอบรับต่อการสู่ขอ พ่อสื่อ แม่สื่อ หรือคนกลาง จะต้องขอวันเวลาเกิดของเจ้าบ่าวเพื่อนำไปผูกดวงว่าสมพงษ์กับเจ้าสาวหรือไม่ โดยศาสตร์ที่ใช้ในการทำนายคือ “ปาจื่อ” ที่ทาง DestinySoln มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี

3.การหมั้นหมาย (มอบสินสอด) : ครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องจัดทำหนังสือหมั้นหมาย พร้อมกับสินสอดไปให้ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาว ในขณะเดียวกันครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาวเองก็ต้องมีของขวัญตอบกลับเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ยืนยาวระหว่างครอบครัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่นเอง

กำหนดการเวลาของการมอบสินสอดเดิมทีอยู่ที่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนงานมงคลสมรส ซึ่งความสำคัญของการหมั้นหมายมีความสำคัญไม่แพ้กับการแต่งงานเลยทีเดียว ในส่วนของสินสอดนั้นมักจัดอยู่ในภาชนะสีแดงและสีทอง ซึ่งทั้งสองสีเป็นตัวแทนความเป็นสิริมงคลและความมั่งคั่งที่จะเกิดขึ้นจากการแต่งงานของทั้งสอง

ตัวสินสอดเองมักนิยมจัดเรียงเป็นคู่ ถือว่าเป็นเคล็ดให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวอยู่ “คู่” กันไปนานๆ ไม่ว่าจะเป็นของที่รับประทานหรือดื่มกินได้ เช่น ผลไม้ ชา หรือ สุราต่างๆ ที่มักจัดเป็นคู่อยู่เสมอ หรือเครื่องประดับ (นิยมเป็นเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ) เช่น ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือแหวน โดยมักมีเทียนแดงประดับคู่พร้อมกับกระดาษที่ตัดเป็นคำว่า “ความสุข” อยู่คู่กัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่

4.ของรับไหว้หมั้นหมายก่อนการแต่งงาน : จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องจัดเตรียมของขวัญรับไหว้เป็นอาหาร ขนมหวาน และของมงคลต่างๆตามประเพณีของบ้านเจ้าบ่าว พร้อมกับหนังสืออีกฉบับที่บันทึกถึงของรับไหว้ต่างๆเหล่านี้คู่กันไปกับของรับไหว้ จากนั้นจึงส่งไปยังบ้านเจ้าสาว

5.จัดหาฤกษ์มงคลสมรส : ก่อนที่จะจัดงานแต่งงานได้ ฤกษ์แต่งงานเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากด้วยความเชื่อที่ว่า ฤกษ์ที่ดีจะทำให้การแต่งงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น คู่บ่าวสาวจะอยู่กันได้อย่างมีความสุขจนแก่ตนเฒ่า รวมถึงการมีลูกมีหลายเอาไว้สืบสกุลมากมายอีกด้วย ในประเด็นนี้ทางคู่บ่าวสาวสามารถไว้ใจให้ทาง DestinySoln ช่วยจัดฤกษ์ที่เหมาะสมให้ได้ตามความต้องการของทั้งคู่ เพื่อความสบายใจที่สุดในวันที่สำคัญที่สุดในชีวิต

6.การจัดพิธีมงคลสมรส : รายละเอียดของการจัดพิธีมงคลสมรสมีดังนี้

6.1) จากบ้านเจ้าสาวไปที่บ้านเจ้าบ่าว : ก่อนที่งานมงคลจะเริ่มขึ้น เจ้าสาวจะจัดแต่งทรงผมด้วยด้ายหลากสีม้วนเอาไว้เพื่อความสวยงาม แต่ในปัจจุบันจะนิยมเป็นการใช้ปิ่นปักผมและเครื่องประดับทองคำต่างๆพร้อมกับอัญมณีหลากสีแทน เจ้าสาวจะสวมใส่กระโปรงยาวสีแดง ตามความเชื่อของคนจีนโบราณที่ว่าสีแดงเป็นสีมงคลเป็นสีของความสุข จากนั้นเมื่อขบวนแห่ของเจ้าบ่าวมาถึงที่บ้านเจ้าสาว ญาติผู้ชายของเจ้าสาวนิยมเป็นพี่ชายคนโตจะเป็นคนนำแบกเกี้ยวที่มีเจ้าสาวกลับไปที่บ้านเจ้าบ่าว

ในบริบทสังคมยุคปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนจากการนั่งเกี้ยวเป็นการนั่งรถยนต์จากบ้านสาวไปยังบ้านเจ้าบ่าวนั่นเอง ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมของมงคลเพิ่มเติมไว้ด้วยเมื่อไปที่บ้านเจ้าบ่าว โดยของที่เตรียมเพิ่มมักเป็น กรรไกร 2 เล่ม ; คล้ายผีเสื้อ 2 ตัวที่โบยบินคู่กันตลอดไป , ไม้บรรทัดยาว 2 คู่ ; หมายถึงผืนที่ดืนที่อาจเป็นสินสอดจากฝั่งเจ้าบ่าว และแจกัน ; เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขและความมั่งคั่งในชีวิตคู่

6.2)การต้อนรับเจ้าสาว : เมื่อเจ้าสาวมาถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้ว เจ้าสาวจะถูกส่งตัวขึ้นไปที่ห้องหอ ส่วนเจ้าบ่าวจะต้องดำเนินการ “ผ่านด่านอุปสรรคต่างๆ” โดยด่านเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมหลายชนิดตามประเพณีในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง การระดมสมอง หรือทำกิจกรรมใดๆก็แล้วแต่ เพื่อวัดความสามารถของเจ้าบ่าว ก่อนที่เจ้าบ่าวจะเข้าไปหาเจ้าสาวได้สำเร็จ

6.3)เข้าสู่พิธีมงคลสมรส : ในสมัยโบราณการจัดงานแต่งงานมักจัดขึ้นในบ้านของเจ้าบ่าว แต่ในปัจจุบันมักเปลี่ยนไปจัดที่โรงแรมหรือสถานรับรองต่างๆ ที่มีความสะดวกสบายมากกว่าทั้งในการดำเนินการเชิงพิธีการและการจัดเลี้ยง ในสถานที่จัดเลี้ยงพิธีเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเดินตามชบวนบนพรมสีแดง ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างสวมชุดสีแดงด้วยกันทั้งคู่ โดยเจ้าบ่าวจะต้องคำนับบูชาสี่ครั้ง ซึ่งการคำนับทั้งสี่จะทำต่ำ ฟ้าดิน บรรพบุรุษ บิดามารดา และคู่สมรส ตามลำดับ

ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะคำนับต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะทำการคำนับซึ่งกันและกันด้วย ก่อนจะส่งตัวทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ ส่วนแขกที่เหลือจะเข้าสู่งานเลี้ยงฉลองต่อไป

6.4)งานเลี้ยงฉลองปิดท้าย : ในบางท้องถิ่นอาจให้ความสำคัญกับงานเลี้ยงฉลองมากที่สุด สำหรับพิธีในงานเลี้ยงฉลองจะเป็นการคารวะ บุพพาการีของทั้งสองฝ่ายและแขกในงานด้วยการดื่มชาหรือสุรา โดยปัจจุบันในยุคสมัยใหม่ เจ้าสาวจะสามารถเลือกได้ว่าจะสวมชุดสีขาวตามรูปแบบของตะวันตกหรือสีแดงตามประเพณีจีนโบราณ

อาหารที่เลี้ยงในงานเลี้ยงฉลองมักเป็นวัตถุดิบขั้นสูงเช่น หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ กุ้งมังกร หอยเชลล์ ปลิงทะเลหรือรังนกนางแอ่น มักมีการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยไข่ปลาในจานอาหาร เพื่อสื่อถึงการเกี่ยวดองกันของทั้งสองครอบครัวและทายาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในสมัยโบราณจะต้องมีหนังสือฉบับสุดท้ายในงานนี้ด้วยนั่นก็คือหนังสือมงคลสมรสหรือหนังสือจดทะเบียนสมรสนั่นเอง ซึ่งสมัยก่อนมักมีการลงนามโดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเพื่อเป็นการยืนยันถึงการแต่งงานของทั้งคู่

ทั้งนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวควรคำนึงอยู่เสมอว่าการจัดงานเลี้ยงฉลองมีจุดประสงค์หลักคือการขอบคุณและคารวะต่อผู้มีพระคุณของทั้งสองฝ่าย ที่คอยเฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟักทั้งคู่ให้โตขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นงานเลี้ยงฉลองมักมีรายละเอียดตามธรรมเนียมที่เคร่งครัดในแต่ละครอบครัว เช่น การไหว้คารวะผู้ใหญ่ต่างๆ

เมื่องานเลี้ยงเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวกลับบ้านอย่างเป็นทางการและจะเป็นการสิ้นสุดพิธีอย่างสมบูรณ์

สนใจดูฤกษ์แต่งงานมงคลด้วยศาสตร์จีน โดยซินแสมากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาวิชาความรู้มาจากหลากหลายสำนักจะช่วยให้คู่บ่าวสาวได้ฤกษ์มงคลที่เหมาะสมที่สุดกับการเริ่มต้นชีวิตคู่ หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม >>คลิกได้ที่นี่<<

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้